ในปี พ.ศ 2542 ยังมีใครจำได้ใหมว่า เคยเกิดเรื่องราวการประท้วงคัดค้านการก่อสร้างอำเภอเมืองฯที่หนองญาติของประชาชนที่เป็นชาวบ้านกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่จำนวนคนมาก็แค่นับสิบจิ๊บจ๊อย ไม่ได้มาเป็นหมื่นๆหรือมาทั้งแผ่นดินตามเสียงดีดนิ้วผิวปากของนักปลุกระดมอาชีพที่ชอบหากินกับนักการเมืองที่รวยอุจาด การแสดงออกซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยกังวลใจไม่เชื่อใจไม่พอใจและไม่เห็นด้วยของประชาชนต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (ส่วนจะเป็นใครนั้น อีกไม่นานศาลคงจะบอก ) ในครั้งนั้นถือว่า เป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยที่ซื่อใสไร้สี เพราะว่า เมื่อคนๆหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า เฮ้ย เรื่องอย่างนี้มันไม่ถูกต้องนี่หว่า แล้วไปตรงใจกับคนอีกหลายๆคน จนต้องรวมตัวกันออกมาเพื่อแสดงพลังของการไม่เห็นด้วยของประชาชน แบบว่าเมื่อคิดแล้วก็ไม่ได้นิ่งเฉยต้องทำอะไรสักอย่าง ส่วนผล จะสำเร็จได้ถูกใจอย่างใจหรือไม่นั้น ก็ว่ากันไปตามกฎเกณฑ์และเวลา ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบมันต้องได้อย่างเดียวแถมห้ามกลับบ้านมือเปล่า ตามการโฟนอินของใครบางคนที่กำลังป่วนแผ่นดินอยู่ในวันนี้
อาจจะด้วยจำนวนผู้ประท้วงที่น้อยจนไม่เป็นข่าวฮือฮา เพราะดูเจตนาของการคัดค้านในครั้งนั้นแล้ว คล้ายกับว่าคนพวกนี้เป็นตัวถ่วงความเจริญของบ้านเมือง จึงไม่เป็นที่สนใจของผู้คนและสื่อ หรือจะเกี่ยวกับ หน้าและหูที่หนาทวนลมเป็นเลิศของเจ้าหน้าที่นายนั้นก็อาจเป็นได้ การก่อสร้างก็ดำเนินการต่อไปอย่างไม่ยี่หระอนาทรร้อนใจ จวบจน ที่ทำการอำเภอเมืองนครพนมแห่งใหม่สำเร็จเสร็จสิ้น อันประกอบไปด้วย อาคารที่ทำการ หอประชุม บ้านพัก ตลอดจนสิ่งก่อสร้างอื่นๆอยู่บนอาณาบริเวณพื้นที่ 100 กว่าไร่ ปรากฎอยู่กลางหนองญาติให้เห็นประจักษ์ตา ในปัจจุบัน
หลังจากการประชุมวันนั้น ก็กลับมานั่งทบทวนปัญหาเรื่องราวต่างๆของหนองน้ำ " หนองญาติ " ที่มีมาแต่ต้น ก็พบประเด็นที่น่าขบคิดอยู่หลายเรื่อง ในฐานะที่เป็นคนนครพนม เป็นต้นว่า หนองญาติเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มากมีธรรมชาติที่สวยงามอุดมไปด้วยนกและปลานานาพันธุ์ ผู้เขียนเมื่อยังเล็กอยู่ก็เคยมาเที่ยวพักผ่อนกินข้าวป่าที่ศาลากลางน้ำหนองญาติกับครอบครัวอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งที่ไปก็เห็นชาวบ้านอยู่ตามริมหนอง บ้างก็จับปูบ้างก็หาปลาบ้างก็พาวัวควายมาเล่นน้ำจนชินตา เพราะที่หนองญาตินี่ใครๆก็รู้ว่าเป็นที่สาธารณะ แล้วทางนายอำเภอเมืองฯเอาเหตุผลความถูกต้องชอบธรรมอันใดมาสร้างสถานที่ราชการบนหนองน้ำสาธารณะสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแห่งนี้ หรืออีกชื่อหนึ่ง ตามที่พวกชลประทานเขาเรียกว่า " อ่างเก็บน้ำหนองญาติ " ส่วนเรื่องที่ 2 ก็เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ที่ส่วนใหญ่ไม่พอใจการย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองออกมาอยู่นอกเขตเทศบาลทั้งไกลทั้งเปลี่ยว การสัญจรไม่มีความสะดวกโดยเฉพาะรถรับจ้างสาธารณะก็หายากและแพงโดยใช่เหตุ มีอีกเรื่องที่เล่าให้ใครฟังก็ไม่มีคนเชื่อก็คือ การขุดลอกหนองญาติเหมือนจะพัฒนาระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำ ที่ไหนได้กลับนำเอาดินที่ขุดได้มาถมหนองน้ำซะฉิบ และที่สงสัยอยากรู้ตะหงิดๆอีกเรื่องหนึ่งว่า เหตุผลหรือความจำเป็นอันใดที่เทศบาลเมืองนครพนมจะต้องทะเร่อทะร่าออกมาทำโครงการนอกเขตของตัวเอง หรือว่ามีใครสกิดชวนงั้นรึ ทั้งๆที่ในเขตเทศบาลของตัวเองก็ยังไฟไม่สว่างทางก็เป็นหลุมเป็นบ่ออยู่ มันเกิดอะไรขึ้น กับ " หนองญาติ " หนองน้ำอันเป็นมรดกทางธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุด กว้างขวางที่สุด และสวยที่สุดของชาวนครพนม
จึงเกิดปัญหาคาใจว่า " หนองญาติที่เป็นเพียงหนองน้ำสาธารณะธรรมดาๆแห่งนี้ ทางราชการเข้ามาใช้พื้นที่ได้อย่างไร แล้วพวกท่านๆเธอๆทั้งหลายนี่ดำเนินงานถูกต้องหรือ ไม่ " เมื่อมีปุจฉามันก็ต้องมีวิสัจนา แบบตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จะว่าไปแล้วมันก็หลายเดือนอยู่เหมือนกันที่ต้องใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ตะรอนๆไปตั้งคำถามตามหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้หลักฐานและคำตอบที่ไม่ค่อยเต็มใจทื่อๆห้วนๆชวนหงุดหงิดใจ เริ่มต้นไปที่อำเภอเมืองฯ ก็ได้หลักฐานมาชิ้นเดียวจริงๆ คือ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หมายเลข นพ.0038 ที่ออกตามคำขอของกระทรวงการคลังเพื่อใช้ในงานกรมชลประทาน ปลัดสาวตัวสูงชี้แจงว่า ที่สร้างที่ว่าการฯได้ก็เพราะหนองญาติเป็นที่ราชพัสดุหรือเป็นที่ดินสำหรับราชการใช้ไม่ใช่ที่สาธารณะ หากอยากรู้มากกว่านี่ก็ให้ไปถามเอากับชลประทานในฐานะผู้ใช้งาน แต่พอไปถามเรื่องราวกับทางชลประทาน ก็ได้คำตอบที่มาดมั่นแต่ไม่ค่อยเต็มใจว่า ทางอำเภอเมืองฯไม่ได้ขออนุญาตในการเข้าใช้ และถ้าอยากรู้มากกว่านี้ให้ไปถามทางธนารักษ์ดู โอเค.ไปก็ไป พอไปถึงสำนักงานธนารักษ์ ก็ได้คำตอบที่ฟังแล้วชวนขนลุกมาก คุณเธอสาวใหญ่แต่โสดสนิทคนนั้น ก็ตอบว่า หนองญาติเป็นที่ราชพัสดุ ( นะจ๊ะ ) ไม่ใช่ที่สาธารณะ เพราะทางชลประทานซื้อ หนองญาติมาจากเจ้าของ มีสัญญาซื้อขายและนส.3 ตั้งแต่ปี 2516 แน่ะ จึงทำให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุทั้งหลายก็ได้ครอบครองหนองญาติด้วยประการอื่น ( ตาม มาตรา 5 พรบ.ที่ราชพัสดุ )ไปด้วย โอ้โห พอได้ยินเท่านั้น ก็พอเห็นคุกหนองเซาอยู่รำไร ว่าแต่ว่า บรรดาลุงๆป้าๆที่อยู่แถวหนองญาติ เนี่ยะ มีใครเคยเห็นเจ้าของหนองญาติตัวเป็นๆ บ้างมั๊ย เอ่ย เพราะถ้ามี ก็จะชวนไปเป็นพยานที่ศาล
เมื่อได้สัมผัสการโยนเผือกร้อนเป็นทอดๆแบบนี้แล้ว กลิ่นฉ้อฉนของการประพฤติมิชอบก็โชยมา อีกทั้งก็ได้หลักฐานเด็ดข้อมูลที่หนำใจแล้วนี่ ก็เลยมานั่งปรึกษาหารือกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในยุคที่ยังไม่มีสีเหลืองสีแดงว่า งานปล้น เอ๊ย งานเข้าใช้หนองญาตินี้มันเป็นขบวนการใหญ่มากนะ ตัวการก็มีนักการเมืองทั้งระดับชาติทั้งท้องถิ่นและที่สำคัญ ข้าราชการระดับสูงๆก็เล่นด้วย เห็นทีว่าพวกเราจะนิ่งเฉยดูดายไม่ได้แล้วต้องช่วยกันหาทางปกปักรักษาสมบัติชิ้นสำคัญของบ้านเรา ก็เลยตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ชื่อว่า " กลุ่มอนุรักษ์หนองญาติ " ประเดิมด้วยการส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่สำคัญๆต่างๆโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังวัดนครพนมในฐานะผู้มีอำนาจโดยตรงให้ยกเลิกเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับนั้นเสีย แต่โชคร้ายหน่อย ( สำหรับใครก็ไม่ทราบ ) คือท่านไม่ทำอะไรเลย ไม่แตะต้องอะไรทั้งนั้น ก็จำเป็นอยู่ดีที่พวกเราต้องพึ่งบารมีของศาลปกครอง ในปี พ.ศ 2549 ซึ่งเรื่องก็ยังคาอยู่ในศาลกระทั่งทุกวันนี้ โดยระหว่างนั้นศาลมีคำสั่งห้ามมีกิจกรรมใดๆบนพื้นที่ของหนองญาติ ถึงกระนั้นก็ยังมีคนรนหาที่แอบทำโน่นสร้างนี่อยู่ คิดเหรอ ว่าศาลจะไม่รู้เรื่อง
ในปี พ.ศ 2552 นับแต่ฟ้องศาลมากว่า 3 ปีแล้ว เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว บางคนรอไม่ไหวก็ตายไป บางคนก็เกษียนหนีหมายศาลไป บางคนก็เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นแต่ตำแหน่งจะช่วยได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง ส่วนคดีหนองญาติที่ศาลก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า แหม้มันช่างน่าเบื่อ กอรปกับในปีนี้ ทางการได้ตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อเข้ามาดูแลการเมืองข้างถนน หรือ การเมืองภาคประชาชนที่มีอยู่กระจัดกระจายตามมีตามเกิดอันได้แก่ กลุ่มประท้วงเรียกร้องสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม กลุ่มคัดค้านนั่นนี่ ตลอดจนกลุ่มสมัชชาสมาพันธ์ต่างๆ ให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาชิกให้ถูกต้องเสียและเข้ามาอยู่รวมกันในรูปแบบของสภา ให้รู้ว่าใครเป็นใครแบบมีกฎหมายรองรับ ซ้ำยังมีเงินทุนสนับสนุนการทำงานอีกต่างหาก หน่วยงานนั้นก็คือ สภาพัฒนาการเมือง เมื่อรู้อย่างนี้ก็เลยหารือกันในกลุ่มว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องทำงานให้เป็นกิจลักษณะเสียที อีกทั้งงานเดิมของกลุ่มอนุรักษ์หนองญาติก็เป็นงานเฉพาะกิจและคดีก็ไปไม่ถึงไหน ก็เลยตกลงใจเอากลุ่มอนุรักษ์หนองญาติมาฝากพักที่ข้างศาลไว้ก่อนกะว่ามีข่าวดีเมื่อไหร่ก็จะกลับมาเอาคืน แล้วจัดตั้งกลุ่มใหม่ให้ชื่อว่า " กลุ่มพนมนครานุรักษ์ " พร้อมกับสมัครเป็นสมาชิกของสภาพัฒนาการเมือง ( สพม. ) เพื่อทำงานการเมืองภาคประชาชนให้เป็นเรื่องเป็นราวต่อไป
ที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม ที่สร้างอยู่กลางหนองน้ำ " หนองญาติ "
เอ สถานที่แห่งนี้ เคยมีป้ายบอกว่าเทศบาลเมืองฯเป็นผู้สร้าง นี่นา
แล้วป้ายเก่ามัน หายไปไหน
อาคารนี้แอบสร้าง ในช่วงที่มีคำสั่งให้ผู้ว่าฯระงับการก่อสร้าง
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งอาคารที่ควรสร้างใกล้ชุมชนตามแบบเดิม
งานนี้เรียกว่า สร้างผิดเวลา ผิดสถานที่
เขาไม่ให้สร้าง ก็ดันทุรัง แล้วยังไง หละที่นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น