เมื่อแว๊ปแรกที่ได้เห็นภาพจำลองสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน นี้ คงไม่มีใครปฎิเสธถึงความสวยสง่าอลังการสมกับเป็นสะพานระดับสากล และได้สร้างความรู้สึกปิติภาคภูมิใจสูงสุดให้กับชาวนครพนมนับแต่นั้นมา
กระทั่งเวลาผ่านไปพร้อมกับการก่อสร้างก็ดำเนินไปแต่ความปิตินั้นก็ค่อยๆลดลงๆ เมื่อสถาปนิกในท้องถิ่นได้เหลือบไปเห็นยอดแหลมๆที่หลังคาอาคารด่านศุลกากรฯและเม็ดบัวหัวเสาใหญ่ 2 เสาที่ขนาบข้างสะพาน ดังปรากฎอยู่ในแบบก่อสร้าง เมื่อดูๆไปก็คลับคล้ายคลับคลาอะไรบางอย่างที่ชักคุ้นๆและสดุดตาขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อได้พิจารณาลงในรายละเอียดของยอดแหลมนั้นก็พบว่า อ้าว ตายแล้ว นี่มันเป็น กุฎาคาร ( เรือนยอด )นี่หว่า แล้วเอามาใช้กับงานอาคารสาธารณะประเภทนี้ ในลักษณะแบบนี้ได้อย่างไร ซ้ำร้ายยังไปเอารูปทรงขององค์พระธาตุพนม สิ่งเคารพสักการะทางพุทธศาสนามาใช้เป็นปลียอดของ กุฎาคาร อีกต่างหาก เออ คนออกแบบนี่ เขาช่างกล้า และคิดได้ไงหนอ ?
ก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการอธิบายถึงเรื่อง กุฎาคาร เพื่อความกระจ่างเข้าใจแก่สาธารณชนเสียก่อน
กุฎาคาร (บาลี,สันสกฤต )หรือ เรือนยอด นี้ หมายถึง อาคารหรือเรือนที่มียอดแหลม และเป็น ยอดแหลมหรือ ปลียอด ที่ต่อจากส่วนของหลังคา เช่น ยอดปราสาท ยอดมณฑป ในทางวิชาการสถาปัตยกรรมไทยถือว่าเป็นของสูงและมีฐานันดรศักดิ์ (ว่าจะใช้กับอาคารชนิดใดหรือประเภทใดได้บ้าง) เพราะมีคติธรรมเนียมโบราณว่าอาคารลักษณะนี้สร้างโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติหรือเพื่อเทิดทูนพุทธศาสนาหรือเทพเจ้า เช่น พระมหาปราสาทพระราชมณเทียร พระที่นั่งต่างๆในเขตพระราชฐาน เจดีย์มณฑปในพระอารามหลวง พระเมรุมาศและศาสนสถานต่างๆ
ส่วนอาคารด่านศุลกากรฯ ที่สะพานแห่งนี้ ถึงจะเป็นอาคารของหน่วยงานราชการที่จัดอยู่ในระดับสากลก็ตามเถอะ แต่ด้วยหน้าที่ใช้สอยและการใช้งานเพื่อการสัญจรสาธารณะ ที่มิได้จำกัดว่าคนชาติใดจะไปคนเผ่าใดจะมา และที่มาของการสร้างสะพานก็มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติหรือมีส่วนใดที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย ก็สรุปได้ว่า การออกแบบอาคารชนิดนี้ประเภทนี้ ไม่มีสิทธิที่จะใช้สถาปัตยกรรมในรูปแบบ กุฎาคาร หรือ เรือนยอด ได้เลย นี่เป็นประเด็นแรก
ส่วนประเด็นที่ 2 ในเรื่องที่ หากมีชาวพุทธคนใดนำเอาสิ่งเคารพบูชาในพุทธศาสนามาใช้ เพื่อเป็นการตกแต่งประดับประดา มากกว่าเพื่อ การสักการะบูชา นี้ ก็ถือเป็นการลบหลู่ไม่รู้ความ คล้ายกับพวกฝรั่งมังค่าหรือคนต่างศาสนานิยมใช้เศียรพระพุทธรูปหรือองค์พระพุทธรูป มาตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือนของตน เช่น ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องน้ำ กระทั่งการแต่งสวน ด้วยเหตุผลเพื่อความสวยงามทางด้านศิลปะเพียงอย่างเดียวโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบทางด้านศาสนาที่จะตามมา
และนอกจากนี้ก็ยังมีการนำไปใช้ประกอบผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นๆอย่างไม่สมควร สร้างความขุ่นเคืองแก่ชาวพุทธเรามาตลอด ซึ่งก็ต้องคอยประท้วงพวกไม่รู้ความไม่รู้ภาษานั้นอยู่ร่ำไป
ดังนั้น การนำเอารูปทรงองค์พระธาตุพนม มาใช้ประดับตกแต่งกับสิ่งก่อสร้างสาธารณะด้วยเหตุผลด้านความสวยงามของศิลปะเพื่อให้โดนใจผู้คนมากกว่าเหตุผลอื่น ก็ไม่ได้มีบรรยากาศต่างไปจากเรื่องการกระทำของพวกฝรั่งมังค่าตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
คิดว่านับแต่นี้ไป คงเป็นวิจารณญานของชาวนครพนมทุกคนแล้วหละ ว่า ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่กับการนำเอาพระธาตุพนมมาใช้ในงานลักษณะอย่างนี้
ก่อนที่ สะพาน แห่งนี้ จะเป็น สะพัง
เห็นด้วยครับ แต่อยากเสนอว่าให้ท่านปล่อยวางบ้าง ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้าหรอกครับ สำหรับผม กุฎาคารใช้กับงานfuntionทั่วไปกับคนธรรมดาทั่วไป ถ้าใช้อย่างถูกวิธีและรู้จักปรับรู้จักแต่ง ยกตัวอย่างนะครับ ผมทราบครับว่ากฎาคารใช้กับอาคารแบบไหน กุฎาคารถูกถอดฟอร์มมาจากวิหารแก้วบนสวรรค์เหนือยอดเขาพระสุเมรุไปอีก ประหนึ่งว่าตัวเขาด้วย ยอดวิหารด้วย ก็คือกุฎาคารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึงยอดของวิหารแก้วนี้ที่ซ้อนหลายชั้นเพราะเป็นการเอาsymbolicของเศวตฉัตรมาใช้ เป็นการยอพระเกียรติขององค์พระพุทธเจ้าในฐานะเที่มีเลือดเนื้อชื้อกษัตริย์
ตอบลบ